วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2556

One Tumbon One Product

Welcome To Khukhan OTOP



โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์”  หรือเรียกย่อว่า โอทอป (OTOP)   เป็นโครงการกระตุ้นธุรกิจประกอบการท้องถิ่น ซึ่งได้รับการออกแบบโดย ทักษิณ  ชินวัตร สมัยที่ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่าง พ.ศ. 2544-2549 โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายจะสนับสนุนผลิตภัณฑ์ลักษณะเฉพาะที่ผลิตและจำหน่ายในท้องถิ่นแต่ละตำบล โดยได้รับแรงบันดาลใจมากจากโครงการหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OVOP)  ที่ประสบความสำเร็จของญี่ปุ่น โครงการโอทอป กระตุ้นให้ชุมชนหมู่บ้านพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและการตลาด เลือกผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นมาหนึ่งชิ้นจากแต่ละตำบลมาประทับตราว่า "ผลิตภัณฑ์โอทอป" และจัดหาเวทีในประเทศและระหว่างประเทศเพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าเหล่านี้ ผลิตภัณฑ์โอทอปครอบคลุมผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง ซึ่งรวมไปถึงงานหัตถกรรม ฝ้ายและผ้าไหม เครื่องปั้นดินเผา เครื่องประดับแฟชั่น ของใช้ในครัวเรือนและอาหาร หลังจากรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549  โครงการโอทอปได้ถูกยกเลิกไป ก่อนจะได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งแต่เปลี่ยนชื่อใหม่

ปรัชญา
"หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์"  เป็นแนวทางประการหนึ่ง ที่จะสร้างความเจริญแก่ชุมชนให้สามารถยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของคนในชุมชนให้ดีขึ้น โดยการผลิตหรือจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น ให้กลายเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มีจุดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตนเองที่ สอดคล้องกับวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น สามารถจำหน่ายในตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ โดยมีหลักการ พื้นฐาน ประการ คือ
ภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สากล (Local Yet Global)
พึ่งตนเองและคิดอย่างสร้างสรรค์ (Self-Reliance-Creativity)
การสร้างทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development)

ผลิตภัณฑ์ ไม่ได้ หมายถึง ตัวสินค้าเพียงอย่างเดียวแต่เป็นกระบวนการทางความคิดรวมถึงการบริการ การดูแลการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การรักษาภูมิปัญญาไทย การท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี การต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีจุดเด่น จุดขายที่รู้จักกันแพร่หลายไปทั่วประเทศและทั่วโลก







วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ตำบลนิคมพัฒนา




ผ้าลายลูกแก้ว (บ้านนิคมพัฒนา)


กลุ่มผู้ผลิต คือ กลุ่มสตรีทอผ้าลายลูกแก้ว การทอผ้าลายลูกแก้ว ได้รับการสืบทอดจากบรรพบุรุษ การย้อมสีและการมัดหมี่ลวดลายต่างๆ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในหมู่บ้านมาช้านานกว่าร้อยปี นับว่าเป็นแหล่งผลิตผ้าที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว ฝีมือประณีต ต่อมาชาวบ้านได้รวมกลุ่มกันก่อตั้งเป็นกลุ่มทอผ้าลายลูกแก้ว เมื่อปี พ.ศ. 2545 มีสมาชิก 20 คน มีคณะกรรมการบริหารจัดการ จำนวน 8 คน นอกจากนี้ได้มีหน่วยงานราชการเข้ามาช่วยสนับสนุนดูแล เช่น สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอขุขันธ์ ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอขุขันธ์ สำนักงานเกษตรอำเภอขุขันธ์ เป็นต้น ในปี พ.ศ. 2546 ได้รับการยกระดับผลิตภัณฑ์ 2 ดาว ของจังหวัดศรีสะเกษ        




ลักษณะการจำหน่าย : จำหน่ายเอง , มีคนมารับซื้อ , มีร้านส่งประจำ ร้านตัดเสื้อในอำเภอขุขันธ์ สภาวัฒนธรรม , ตามรายการสั่งทอ

            สนใจสามารถติดต่อได้ที่ บ้านเลขที่ 41 หมู่ที่ 6 ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษติดต่อ นางสริด  วงษ์ขันธ์ โทรศัพท์ 086-8773484






ตำบลหัวเสือ




กระเป๋า/หมอนใบเตย (บ้านตาทึ่ง



กลุ่มจักสานกระเป๋า/หมอนใบเตย  จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2544  ซึ่งศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอขุขันธ์ได้มอบหมายให้ นางเสาวคนธ์  แก้ววิจิตร ครูศูนย์การเรียนรู้ชุมชนตำบลหัวเสือได้จัดตั้งกลุ่ม  ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2546 ได้จัดทำโครงการต่อเนื่องจากกลุ่ม ซึ่งได้ความสนใจอย่างมาก  เมื่อได้เป็นกลุ่มอาชีพจึงได้รับงบประมาณในการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลหัวเสือ ในการไปศึกษาดูงานรูปแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ  ของกระเป๋าใบเตยที่จังหวัดสกลนคร  เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนากลุ่มจักสานให้ดีขึ้นกว่าเดิม  ซึ่งก็ประสบผลสำเร็จ  ทำให้ทางกลุ่มมีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น เป็นที่ยอมรับและต้องการของลูกค้ามากขึ้น  







ปัจจุบันได้มีการออกแบบผลิตภัณฑ์หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นจานรองแก้ว แฟ้มเก็บเอกสาร รวมถึงกระเป๋าที่มีรูปทรงเก๋ไก๋ ทันยุคทันสมัยมายิ่งขึ้น  มีราคาถูก เหมาะกับยุคเศรษฐกิจ  

สนใจสามารถติดต่อได้ที่  บ้านตาทึง ม.11  ตำบลหัวเสือ  อำเภอขุขันธ์  จังหวัดศรีสะเกษ 
โทร. 045-685072 หรือหาซื้อได้จากสถาบันจุฬาภรณ์   


  




ตำบลห้วยสำราญ




ผอบใบตาล  บ้านหนองก๊อก



กลุ่มจักสานใบตาลบ้านหนองก๊อก   ตั้งอยู่เลขที่ 169 หมู่ที่ 10 บ้านหนองก๊อก  ตำบลห้วยสำราญ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ มีนางอรษา ขุขันธิน เป็นหัวหน้ากลุ่ม มีสมาชิกจำนวน 22 คน เป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการทำผอบใบตาล กระเป๋าใบตาล หมวกใบตาล การทำโมบายปลา นก ตระกร้า กระเป๋า ฯลฯ วัสดุที่ใช้ประกอบด้วย ใบตาล เถาวัลย์ ไม้พิมพ์ใบตาล สีเคมีย้อมผ้า ลวด ผ้า/ผ้าลูกไม้ในการตกแต่ง ฟองน้ำ โดยมีขั้นตอนการทำคือตากใบตาล ฉีกให้ได้ตามขนาด นำมาย้อมสี และถักเป็นรูปทรง เป็นของใช้ของที่ระลึก ของตกแต่ง และสามารถถ่ายทอดได้ด้วย





สถานที่จำหน่าย  จำหน่ายที่ทำการกลุ่มร้านผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่นจำหน่ายตามที่ห้างเทสโก้ โลตัส สาขาขุขันธ์ร้านจักรินศรีสะเกษขายเร่(OTOP) และจำหน่ายตามเทศกาลต่างๆจังหวัดอุบลราชธานีส่งกรุงเทพฯ

  




ตำบลห้วยเหนือ



ครุน้อย  บ้านสะอาง 



กลุ่มการจักสานครุน้อย ครุเป็นภาชนะที่ใช้ในการตักน้ำของชาวบ้านในภาคอีสานมาแต่อดีต  ชาวบ้านสะอางเป็นผู้ที่มีฝีมือในการจักสานไม้ไผ่เป็นของใช้ได้หลายชนิด  โดยเฉพาะครุไม้ไผ่  แต่ปัจจุบันไม่มีใครใช้แล้ว  ต่อมาจึงได้สานครุให้มีขนาดเล็กลง  เรียกว่า "ครุน้อย" เพื่อพัฒนารูปแบบให้เป็นของตกแต่งบ้าน  ของใช้  ของที่ระลึก  พวงกุญแจ  ดอกไม้  พวกผลไม้  เข็มเกล็ดติดเสื้อ ฯลฯ  ซึ่งผู้สานต้องใช้ความอดทนและประณีตเป็นอย่างมาก  เนื่องจากต้องเหลาไม้ไผ่ให้มีขนาดเล็กเท่ากับเส้นผมหรือเส้นด้าย  แล้วใช้ปลายนิ้วค่อยๆ สอดให้เป็นรูปร่าง  จากนั้นเติมแต่งให้เป็นขาและส่วนที่เป็นหู  แล้วนำไปชุบกับน้ำมันยางและชันก็จะได้ครุน้อยตามต้องการ (สภาวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ  สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ. 2548. "ประวัติศาสตร์  วัฒนธรรม  และภูมิปัญญาท้องถิ่น  อันเป็นเอกลักษณ์จังหวัดศรีสะเกษ". ยงสวัสดิ์อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด. ศรีสะเกษ. หน้า 111)





กลุ่มครุน้อยบ้านสะอางมีหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน คือ ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนและสำนักงานพัฒนาชุมชน อ.ขุขันธ์  จ.ศรีสะเกษ  อุตสาหกรรมจังหวัดศรีสะเกษ  พาณิชย์จังหวัด  และ อบต.ห้วยเหนือ  โดยสามารถติดต่อได้ที่นางสาวเอ็นดู  ศรีแก้ว  บ้านสะอาง  หมู่ 12  ต.ห้วยเหนือ  อ.ขุขันธ์  จ.ศรีสะเกษ 33140







ตำบลใจดี

เกวียนน้อย บ้านใจดี


กลุ่มผลิตเกวียนน้อยบ้านใจดี ตั้งอยู่เลขที่ 411 หมู่ที่ 1 บ้านใจดี ตำบลใจดี อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ มีนายทัด  สอนพูด เป็นประธานกลุ่ม มีสมาชิก 30 คน สมาชิกสามารถผลิตเกวียนน้อยจำหน่ายให้เกิดรายได้เสริมและสร้างชื่อเสียงให้ กับชาวบ้านใจดี และอำเภอขุขันธ์เป็นอย่างดี อีกทั้งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ของอำเภอขุขันธ์ด้วย เป็นกลุ่มที่มีความรู้ความสามารถด้านการผลิตเกวียนน้อย ซึ่งเป็นเกวียนเลียนแบบการใช้งานจริง วัสดุที่ใข้ประกอบด้วย ไม้ไผ่ รากไม้ประดู่ ไม้โมก ไม้ต้นกระท้อน ไม้อัด เชือกไนล่อน ลวด สีประดู่ทาเนื้อไม้ น้ำมันเคลือบเงา มีดตอก เหล็กเจาะ เลื่อย เลื่อยฉลุ เหล็กตะไบ กระดาษทราย ค้อน เครื่องกลึง กระดาษทอง ซึ่งไม้ที่นำมาใช้หาได้จากท้องถิ่น โดยมีกระบวนการผลิตจะแบ่งทำเป็นส่วน ๆ ก่อน คือ โครงเกวียนน้อย ล้อ โครงประทุน และหลังคาประทุน แล้วจึงนำมาประกอบเข้าเป็นตัวเกวียนทีหลัง


   

สถานที่จำหน่าย จำหน่ายที่ทำการกลุ่มร้านประเสริฐสมัยศรีสะเกษร้านจักรินศรีสะเกษร้านผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น ห้างเทสโก้โลตัส สาขาขุขันธ์ และจำหน่ายตามเทศกาลต่างๆ